วันอาทิตย์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

วันฉัตรมงคล



วันฉัตรมงคล

         วันฉัตรมงคลของทุกปีตรงกับวันที่ 5 พฤษภาคม วันสำคัญอีกวันหนึ่งของปวงชนชาวไทย ที่อยู่ใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ควรระลึกถึง วันนี้กระปุกจึงมีเรื่องราวความสำคัญวันฉัตรมงคล ประวัติวันฉัตรมงคลมาฝากค่ะ

ความหมายของวันฉัตรมงคล

         วันฉัตรมงคล (อ่านว่า ฉัด-ตระ-มง-คล) มีความหมายตามพจนานุกรมว่า พระราชพิธี ฉลองพระเศวตฉัตร ทำในวันซึ่งตรงกับวันบรมราชาภิเษก

ความสำคัญของวันฉัตรมงคล

         วันฉัตรมงคล เป็นวันที่รำลึกถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี และราชอาณาจักรไทย ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ ต่อจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 และดำรงพระอิสริยยศเป็น "สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช"เนื่อง จากยังมิได้ทรงผ่านพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ก็เสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาอยู่ ณ ทวีปยุโรป จนกระทั่งทรงบรรลุนิติภาวะ จึงได้เสด็จนิวัตประเทศไทย

         ดังนั้นรัฐบาลไทยและพสกนิกร จึงได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อม จัดงานพระราชพิธีฉลองพระเศวตฉัตรหรือรัฐพิธีฉัตรมงคล หรืออาจเรียกว่าพระราชพิธีฉัตรมงคล ซึ่งกระทำในวันบรมราชาภิเษก ถวายเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 ทั้งนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้มีพระปฐมบรมราชโองการในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้นว่า "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม"

         ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา พสกนิกรชาวไทยจึงได้ถือเอาวันที่ 5 พฤษภาคม ของทุกปีเป็นวันฉัตรมงคล เพื่อน้อมรำลึกถึงวันสำคัญนี้

ความเป็นมาของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

         การจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้น มีหลักฐานปรากฏในหลักศิลาจารึก วัดศรีชุมของพญาลิไทว่า เริ่มต้นมาตั้งแต่ครั้งพ่อขุนผาเมืองได้อภิเษกพ่อขุนบางกลางหาว หรือ พ่อขุนบางกลางท่าว ให้เป็นผู้ปกครองเมืองสุโขทัย

         จากนั้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงฟื้นฟูพระราชพิธีบรมราชาภิเษกให้ถูกต้องสมบูรณ์ โดยพระมหากษัตริย์ที่ยังมิได้ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จะไม่ใช้คำว่า "พระบาท" นำหน้า "สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" และคำสั่งของพระองค์ก็ไม่เรียกว่า "พระบรมราชโองการ" และอีกประการหนึ่งคือ จะยังไม่มีการใช้ นพปฎลเศวตฉัตร หรือฉัตร 9 ชั้น 

ความเป็นมาของพระราชพิธีฉัตรมงคล

         ก่อนหน้ารัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชพิธีฉัตรมงคลถือเป็นพิธีของเจ้าพนักงานในพระราชฐาน ที่มีหน้าที่รักษาเครื่องราชูปโภคและพระทวารประตูวัง ได้จัดการสมโภชสังเวยเครื่องราชูปโภคที่ตนรักษาทุกปีในเดือนหก และเป็นงานส่วนตัว ไม่ถือเป็นงานหลวง

         จนกระทั่ง สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์ ได้ทรงกระทำพิธีฉัตรมงคลขึ้นเป็นครั้งแรก ในวันบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ.2393 โดยมีพระราชดำริว่า วันบรมราชาภิเษกเป็นมหามงคลสมัยที่ควรแก่การเฉลิมฉลองในประเทศที่มีพระเจ้า แผ่นดิน จึงถือให้วันนั้นเป็นวันนักขัตฤกษ์มงคลกาล และควรที่จะมีการสมโภชพระมหาเศวตฉัตรให้เป็นสวัสดิมงคลแก่ราชสมบัติ แต่เนื่องจากเป็นธรรมเนียมใหม่ ยากต่อการเข้าใจ อีกทั้งเผอิญที่วันบรมราชาภิเษกไปตรงกับวันสมโภชเครื่องราชูปโภคที่มีแต่ เดิม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงอธิบายว่า วันฉัตรมงคลเป็นวันสมโภชเครื่องราชูปโภค จึงไม่มีใครติดใจสงสัย

         ดังนั้นจึงได้มีพระราชดำริจัดงานพระราชกุศลพระราชทานชื่อว่า "ฉัตรมงคล" นี้ ขึ้น โดยได้มีการเฉลิมฉลองด้วยการนิมนต์พระสงฆ์มาสวดเจริญพุทธมนต์ ในวันขึ้น 13 ค่ำเดือน 6 รุ่งขึ้นมีการถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ด้วยเหตุนี้จึงถือว่าการเฉลิมฉลองพระราชพิธีฉัตรมงคล เริ่มมีในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นครั้งแรก

         ต่อมาในสมัยรัชกาล ที่ 5 วันบรมราชาภิเษกตรงกับเดือน 12 จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานฉัตรมงคลในเดือน 12 แต่ไม่ได้รับการยินยอม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงแก้ไขด้วยการออกพระราชบัญญัติว่าด้วยตราจุลจอมเกล้าสำหรับตระกูลขึ้น ให้มีพระราชทานตรานี้ตรงกับวันคล้ายบรมราชาภิเษก ท่านผู้หลักผู้ใหญ่จึงยินยอมให้เลื่อนงานฉัตรมงคลมาตรงกับวันบรมราชาภิเษก แต่ยังให้รักษาประเพณีสมโภชเครื่องราชูปโภคอยู่ตามเดิม รูปแบบงานวันฉัตรมงคลจึงเป็นเช่นนี้จนถึงปัจจุบัน

พระราชพิธีฉัตรมงคลในรัชกาลปัจจุบัน

         ในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงาน 3 วัน นั่นคือ

          วันแรก ตรงกับวันที่ 3 พฤษภาคม เป็น งานพระราชกุศลทักษิณานุประทาน ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เพื่ออุทิศส่วนกุศลถวายแด่พระบรมราชบุพการี เป็นพิธีสงฆ์สดับปกรณ์ พระบรมอัฐิ สมเด็จสวดพระพุทธมนต์ แล้วพระราชาคณะถวายพระธรรมเทศนา ซึ่งในวันนี้ได้เพิ่มพระราชพิธีตรึงหมุดธงชัยเฉลิมพล ที่จะพระราชทานแก่หน่วยทหารบางหน่วยเข้าไว้ด้วย

          วันที่ 4 พฤษภาคม เป็น วันเริ่มพระราชพิธีฉัตรมงคล เจ้าพนักงานจะได้อัญเชิญเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ขึ้นประดิษฐานบนแท่นใต้พระมหาปฎลเศวตฉัตร พระครูหัวหน้าพราหมณ์อ่านประกาศพระราชพิธีฉัตรมงคล แล้วทรงสดับพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ เวลาเที่ยง ทหารบก ทหารเรือ จะยิงปืนใหญ่เฉลิมพระเกียรติฝ่ายละ 21 นัด 

          ส่วนวันที่ 5 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันฉัตรมงคล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ ทรงบูชาเครื่องกกุธภัณฑ์ พราหมณ์เบิกแว่นเวียนเทียนสมโภชพระมหาเศวตฉัตรและราชกกุธภัณฑ์ ตอนเย็นพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าแก่ผู้ที่มีความดีความชอบ แล้วเสด็จนมัสการพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร และถวายบังคมพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า ที่ปราสาทพระเทพบิดร เป็นเสร็จพระราชพิธี

         ทั้งนี้ในวันฉัตรมงคล สำนักพระราชวังได้เปิดปราสาทหลายแห่งให้ประชาชนได้เข้าชมและถวายบังคมอีกด้วย

กิจกรรมที่ควรปฏิบัติในวันฉัตรมงคล 

           1. ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือนและสถานที่ราชการ

           2. ร่วมทำบุญตักบาตร ประกอบพิธีทางศาสนา เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล 

           3. น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระพรชัยพร้อมเพรียงกัน กล่าวคำถวายอาศิรวาทราชสดุดี ถวายชัยมงคลให้ทรงพระเกษมสำราญ ทรงเจริญพระชนมายุยิ่งยืนนาน เป็นมหามิ่งขวัญแก่พสกนิกรชาวไทยไปชั่วกาลยิ่งยืนนาน 

         เมื่อวันฉัตรมงคลเวียนมาบรรจบครบรอบอีกหนึ่งครา ในวันที่ 5 พฤษภาคม พสกนิกรชาวไทยทั้งหลาย จึงควรระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลย เดช ซึ่งได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจอันมีคุณอนันต์แก่ปวงชนชาวไทยอย่างหาที่สุดมิได้


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

sunsite.au.ac.th
lib.ru.ac.th
tungsong.com

วันพฤหัสบดีที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

วันลอยกระทง

วันลอยกระทง ถือว่าเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งของชาวไทยทุกคน วันลอยกระทง ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 มักตกอยู่ในราวเดือนพฤศจิกายน ประเพณีลอยกระทง ซึ่งปี 2558 นี้ ตรงกับวันพุธที่ 25 พฤศจิกายน โดยวันลอยกระทงได้ถูกกำหนดขึ้นเพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ และขอขมาต่อพระแม่คงคา บางหลักฐานเชื่อว่าเป็นการบูชารอยพระพุทธบาทที่ริมฝั่งแม่น้ำนัมทามหานที และบางหลักฐานก็ว่าเป็นการบูชาพระอุปคุตอรหันต์หรือพระมหาสาวก สำหรับประเทศไทยประเพณีลอยกระทงได้กำหนดจัดในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณที่ติดกับแม่น้ำ ลำคลอง หรือ แหล่งน้ำต่าง ๆ ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็จะมีเอกลักษณ์ที่น่าสนใจแตกต่างกันไป
 
ลอยกระทง 2558

ลอยกระทง 2558
ประวัติวันลอยกระทง
เดิมเชื่อกันว่า ประเพณีลอยกระทง เริ่มมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหง โดยมีนางนพมาศหรือท้าวศรีจุฬาลักษณ์ พระสนมเอกในพระร่วงเจ้าแห่งกรุงสุโขทัย เป็นผู้ประดิษฐ์กระทงขึ้นครั้งแรก โดยแต่เดิมเรียกว่า “พิธีจองเปรียง” ที่ลอยเทียนประทีป และนางนพมาศได้นำดอกโคทม ซึ่งเป็นดอกบัวที่บานเฉพาะวันเพ็ญเดือนสิบสองมาใช้ใส่เทียนประทีป แต่ปัจจุบันมีหลักฐานว่าไม่น่าจะเก่ากว่าสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยอ้างอิงหลักฐานจากภาพจิตรกรรมการสร้างกระทงแบบต่างๆ ในสมัยรัชกาลที่ 1
ต่อมาในช่วงกรุงรัตนโสินทร์ตอนต้น สมัยรัชกาลที่ 1 ถึง รัชกาลที่ 3 พระบรมวงศานุวงศ์ตลอดจนขุนนางนิยมประดิษฐ์กระทงเพื่อประกวดแข่งขันกัน ซึ่งใช้แรงงานและแรงคนเป็นจำนานมาก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงมองเห็นว่าเป็นการสิ้นเปลืองจึงยกเลิกการประดิษฐ์กระทงใหญ่ไป และหันมาทำเรือลอยประทีปถวายองค์ละลำแทนกระทงใหญ่ ซึ่งเรียกว่า “เรือลอยประทีป”
ความเป็นมาและความเชือ ของเทศกาลลอยกระทง
  1. ลอยกระทง เพื่อเป็นการแสดงความสำนึกบุญคุณของแม่น้ำ ที่ให้เราได้อาศัยดื่มกิน อีกทั้งขออภัยพระแม่คงคาที่ทำให้แหล่งน้ำต่างๆ ไม่สะอาด
  2. ลอยกระทง เพื่อเป็นการสักการะรอยพระพุทธบาทนัมมทานที
  3. ลอยกระทง เพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ โดยอาศัยความเชื่อในการลอยความทุก ความโศก โรคภัยไข้เจ็บ และสิ่งไม่ดีๆ ต่างให้ไปกับแม่น้ำ
  4. ลอยกระทง เพื่อบูชาพระอุปคฺตฺ ที่ชาวไทยภาคเหนือเคารพ ซึ่งบำเพ็ญบริกรรมคาถาอยู่ในส่วนลึกของท้องทะเล หรือสะดือทะเล
  5. ลอยกระทง เพื่อรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีที่เก่าแก่ของไทยแต่โบราณ อีกทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวให้กับชาวไทยและ ชาวต่างชาติ
  6. เพื่อเป็นการนัดพบปะสังสรรค์กันในหมู่ครอบครัว ให้ได้อยู่ร่วมกันในวันลอยกระทง
  7. เพื่อส่งเสริมฝีมืองานอาชีพ อีกทั้งส่งเสริมให้แสดงความคิดสร้างสรรค์ในการแข่งขันทำกระทง การประกวดนางนพมาศ เป็นประจำทุกปี ที่ต้องมีในวันลอยกระทง
 
วันลอยกระทง 2558

สถานที่จัดงานลอยกระทงในแต่ละจังหวัด

วันลอยกระทงวันลอยกระทง 2558 “เทศกาลลอยกระทงยิ่งใหญ่ตระการตาบนสายน้ำเจ้าพระยา”
ไอคอนสยามอภิมหาโครงการเมืองสัญลักษณ์ใหม่ของประเทศไทย ร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมเฉลิมฉลองมหกรรมลอยกระทงเทศกาลท่องเที่ยวประจำปีของไทยบนสายน้ำเจ้าพระยาในงาน…
วันลอยกระทงวันลอยกระทง 2558 “ประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ สุโขทัย”
อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย จัดขึ้นที่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย เมืองมรดกโลกและเป็นต้นกำเนิดประเพณีลอยกระทง ภายในงานประกอบไปด้วยการแสดงศิลปวัฒนธรรมไทยต่างๆ เช่น โขน รำ ระบำต่างๆ ดนตรีไทย การละเล่นต่างๆ มีตักบาตร ฟังธรรมะ เรียกว่า “พิธีรับรุ่งอรุณแห่งความสุข”
ประเพณีลอยกระทงวันลอยกระทง 2558 “ปั่นชมจันทร์ FULL MOON BIKE และงานลอยกระทง เขื่อนเจ้าพระยา”
จังหวัดชัยนาท ร่วมกับ สำนักงานชลประทานที่ 12 ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพจังหวัดชัยนาท และ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานสุพรรณบุรี จัดกิจกรรม…
ประเพณีลอยกระทงวันลอยกระทง 2558 “ประเพณียี่เป็งเชียงใหม่ เชียงใหม่”
 เขตเทศบาลนครเชียงใหม่ อำเภอเมืองเชียงใหม่ ขบวนแห่โคมยี่เป็งการแสดงศิลปวัฒนธรรมล้านนา ขบวนแห่กระทงขบวนโคมยี่เป็ง
 
ประเพณีลอยกระทงวันลอยกระทง 2558 “งานประเพณีลอยกระทง หาดใหญ่ สงขลา”
สนามชุมชนบางหัก ริมคลองอู่ตะเภา  ถ.สาครมงคล อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา การประกวดหนูน้อยนพมาศ การประกวดกระทง กิจกรรมการแสดงบนเวที
 
 
 
 

วันอาทิตย์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2558

8 เคล็ดลับอ่านหนังสือยังไงให้จำเร็วและแม่น

 8 เคล็ดลับอ่านหนังสือยังไงให้จำเร็วและแม่น

1. อ่านหน้าสรุปก่อน
อ่านตอนจบก่อนเลย ผู้เขียนหนังสือส่วนใหญ่ชอบเขียนให้ดูลึกลับ ชักแม่น้ำทั้งห้า เขียนอธิบายอย่างละเอียดยิบ ใช้ประโยคที่ต้องอ่านซ้ำสองสามรอบถึงจะเข้าใจ โดยเฉพาะในหน้าแรก ๆ ของบท เราไม่จำเป็นต้องรู้ประวัติชีวิตของผู้เขียน บทนำ ซึ่งจะเป็นการเขียนเกริ่นแนะนำให้อ่านต่อไปเรื่อย ๆ ซะเป็นส่วนใหญ่
ในทางกลับกัน บทส่งท้าย หรือบทสรุป เป็นสิ่งที่ต้องอ่าน โดยปกติแล้วจะเป็นส่วนที่ผู้เขียนสรุปข้อมูลทั้งหมดที่ได้กล่าวมา อีกทั้ง หากเราอ่านบทสรุปก่อน แล้วกลับมาอ่านหน้าแรกอีกครั้งก็ทำให้เราสามารถอ่านได้เข้าใจมากขึ้น แม้กระทั่งในเวลาที่ต้องอ่านหนังสือก่อนเพื่อไปเรียนในคาบถัดไป การอ่านส่วนบทสรุปก็ทำให้เราเห็นภาพคร่าวๆของเนื้อหาที่ต้องเรียนแล้ว
2. ใช้ปากกาไฮไลต์เพื่อนเน้นใจความสำคัญ
ข้อผิดพลาดที่หลายคนทำ คือการเลิกไฮไลต์ เนื่องจากครูผู้สอนกล่าวถึงแทบทุกอย่างในหน้าหนังสือ เลยไฮไลต์ตาม ปรากฏว่าไฮไลต์ไปหมดทั้งหน้า ซึ่งกลายเป็นการกระทำที่ไม่เกิดประโยชน์ไป จึงขี้เกียจไฮไลต์อีก และเลิกทำไปในที่สุด
ความจริงแล้ว การไฮไลต์ข้อความนั้นมีประโยชน์มาก “หากใช้อย่างถูกวิธี” ไม่ควรไฮไลต์ทุกอย่างในหน้า และไม่ควรไฮไลต์น้อยจนเกินไป สิ่งที่ควรทำคือการไฮไลต์ข้อความที่ผู้เขียนกล่าวสรุป โดยปกติแล้วผู้เขียนมักจะกล่าวประเด็นซ้ำไปมาหลายหน้าและให้ข้อมูลสรุปประเด็นที่ย่อหน้าสุดท้าย ให้ไฮไลต์บริเวณนั้น เมื่อเราเปิดหนังสือมาอ่านอีกครั้ง เราจะสามารถทราบทุกอย่างที่จำเป็นต้องรู้ด้วยการมองเพียงแวบเดียว
3. ดูสารบรรณและหัวข้อย่อย
นักศึกษาที่เรียนในมหาวิทยาลัยมักประหลาดใจเมื่อทราบข้อนี้ว่า อาจารย์ส่วนใหญ่ในมหาวิทยาลัยนั้น ไม่ได้อ่านหนังสือจนจบเล่ม แต่สิ่งที่พวกท่านทำนั้น คือการดูสารบรรณและอ่านหัวข้อที่น่าสนใจหรือเกี่ยวข้องกับงานวิจัยที่จะทำเท่านั้น หรือไม่ก็ใช้วิธีการ อ่านผ่านๆอย่างรวดเร็ว (skimming) จนเมื่อเจอหัวข้อที่น่าสนใจจึงค่อยหยุดอ่านอย่างตั้งใจ ทำให้การอ่านั้นไม่น่าเบื่อ เพราะว่าเราจะได้อ่านสิ่งที่เราสนใจจริง ๆ เท่านั้น
และยังทำให้เรารู้ใจความสำคัญของสิ่งที่ผู้เขียนต้องการสื่อได้อยู่ดี เพราะผู้เขียนมักจะกล่าวถึงประเด็นสำคัญซ้ำ ๆ ในทุกส่วนของหนังสือ เทคนิคนี้ช่วยป้องกันอาการ “ตามองอ่านตัวหนังสือทุกบรรทัด แต่ใจความไม่เข้าหัวเลย” อ่านออกแต่สมองไม่ตอบรับว่าสิ่งที่อ่านไปนั้นคืออะไร เพราะเกิดจากการอ่านสิ่งที่เราไม่อยากอ่านนั่นเอง

8 เคล็ดลับอ่านหนังสือยังไงให้จำเร็วและแม่น
4. ขวนขวายกันสักนิด
แทนที่จะซึมซับทุกอย่างจากการอ่านหนังสือที่อาจารย์สั่งเท่านั้น ลองเปิดโลกใหม่ดูบ้าง หาหนังสือเล่มอื่นๆ ในห้องสมุด หรือในอินเตอร์เน็ตก็มีเยอะแยะไปที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่เรียนมาอ่านดู ซึ่งหนังสือบางเล่มพูดถึงเล่มเดียวกันแต่เขียนได้น่าอ่าน อ่านเข้าใจง่าย มีภาพประกอบเพิ่ม สรุปแบบอ่านแล้วเข้าใจ ซึ่งจริง ๆ เนื้อหาก็เรื่องเดียวกับที่เรียนในห้อง
แต่ขึ้นชื่อว่าหนังสือเรียนก็รู้ๆ กันอยู่อ่านไปหลับไปเป็นธรรมดา ดังนั้นการหาความรู้ข้างนอกมาเสริมจะช่วยให้เราเข้าใจสิ่งที่เรียนได้ง่าย และเข้าใจมากขึ้น บางทีอาจรู้ลึกกว่าที่เรียนในคาบเสียอีกนะ หนังสือประวัติศาสตร์ไทย ที่มีอยู่ในห้องสมุดอาจจะอ่านแล้วสนุกน่าอ่านกว่าหนังสือที่ใช้เรียนอยู่ก็ได้ การอ่านไม่ใช่เรื่องที่จะทำให้สนุกได้โดยอัตโนมัติ หากเราไม่มองหาสิ่งที่เราอยากอ่านจริง ๆ เสียก่อน การอ่านจะกลายเป็นเรื่องน่าเบื่อสำหรับเราไป
5. พยายามอย่าอ่านทุกคำ
หลายคนคิดว่าการอ่านทุกคำจะช่วยให้จดจำข้อมูลได้อย่างละเอียดยิบ ความจริงแล้วหาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะสมองจะได้รับข้อมูลมากเกินไปและเกิดความล้า เบื่อหน่ายจนตาลอยอ่านหนังสือไม่เข้าหัวในที่สุด
ที่เป็นเช่นนี้เพราะหนังสือที่ไม่ได้อยู่ในประเภทนิยายมักจะถูกเขียนอธิบายซ้ำ ๆ เพราะผู้เขียนต้องการจะกล่าวอธิบายให้กระจ่าง แต่ใจความสำคัญจริง ๆ แล้วอยู่ที่บทสรุปเพียงไม่กี่ย่อหน้า หนังสือส่วนใหญ่ใส่ข้อมูลหลักฐานจนแน่นมากกว่าจะกล่าวถึงประเด็น ซึ่งก็เป็นเรื่องดีและน่าสนใจ แต่ทุกหลักฐานที่อ้างนั้นก็กล่าวถึงประเด็นเดียว การอ่านเพิ่มเติมก็เป็นการย้ำถึงประเด็นเดิม ดังนั้นเลือกหลักฐานที่น่าสนใจที่สุดแล้วอ่านบทต่อไปเถอะ
แม้แต่หนังสือประเภทนวนิยายก็อาจทำให้เราเบื่อได้เช่นกัน ในบางตอนที่ผู้เขียนอธิบายฉากอย่างละเอียดยิบ ให้ใช้วิธีการอ่านผ่าน ๆ (skimming) จนกว่าจะเจอฉากที่น่าสนใจและอ่านอย่างตั้งใจอีกครั้ง การทำเช่นนี้อาจจะทำให้พลาดส่วนสำคัญบางอย่างไป แต่ก็ทำให้เราอ่านต่อไปได้มาก ดีกว่าเบื่อและหยุดอ่านไป
6. เขียนสรุปมุมมองของผู้อ่าน
อดทนหน่อยอย่าเพิ่งเบื่อ! คนส่วนใหญ่ไม่ชอบการเขียน แต่การเขียนนั้นเป็นวิธีการที่ง่ายที่สุดในการรวบรวมข้อมูลสำคัญในระยะเวลาอันสั้น หากเป็นไปได้ให้เขียนใจความสำคัญในแบบฉบับของเราใน 1 หน้ากระดาษ โดยพูดถึงประเด็นที่ผู้เขียนต้องการจะสื่อ ยกตัวอย่างสั้น ๆ และคำถามหรือความรู้สึกของเราที่ต้องการการค้นคว้าเพื่อหาคำตอบต่อไปให้ดียิ่งขึ้น
การเขียนมุมมองของผู้อ่านเช่นนี้ เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เราทราบถึงประเด็นสำคัญของหนังสือเช่นเดียวกับการไฮไลต์ข้อความ เมื่อใกล้ถึงช่วงสอบ จะเป็นการง่ายกว่าที่เราจะนั่งอ่านมุมมองสรุปของผู้อ่าน แทนที่จะพลิกตำราอ่านหนังสือทั้งเล่มเพื่ออ่านทบทวนอีกครั้ง หากเป็นหนังสือภาษาอังกฤษ เราสามารถอ่านรีวิวหนังสือจากผู้อ่านคนอื่น ๆ ในเว็บไซต์ เช่น Amazon เป็นการเสริมข้อมูลในมุมมองของผู้อ่านท่านอื่น ๆ ที่ได้รับจากหนังสือเล่มนั้นเช่นกัน

เคล็ดลับอ่านหนังสือยังไงให้จำเร็วและแม่น
7. อภิปรายกับผู้อื่น
คนส่วนมากไม่ชอบการทำงานกลุ่ม แต่การจับกลุ่มกันพูดถึงเนื้้อหาของหนังสือที่ต้องอ่านข่วยทำให้เราจำได้ง่ายขึ้น บางครั้งอาจพูดถึงหนังสือในแง่ตลก ๆ ก็จะทำให้เราจำประเด็นนั้นได้เมื่อเราอยู่ในห้องสอบ เพราะเราจะคิดถึงเรื่องตลกก่อน เป็นการใช้หลักการเชื่อมโยงข้อมูลที่ทำให้สมองของเราทำงานได้ง่ายขึ้น
การพูดคุยเกี่ยวกับหนังสือที่อ่านช่วยทำให้เราได้รับข้อมูลเพิ่มเติมจากบางส่วนที่เรามองข้ามไป บางคนนั้นชอบเรียนรู้โดยการฟัง และมักจะเรียนรู้ได้ดีที่สุดเมื่อได้ยินข้อมูล ดังนั้นการพูดคุยสนทนาถกเถียงประเด็นที่อยู่ในหนังสือจะทำให้เราจำประเด็นสำคัญนั้นได้ดีเมื่อได้ฟังผ่านหู ทำให้เราสามารถระลึกถึงข้อมูลส่วนนั้นได้เมื่ออยู่ในการสอบ
8. จดคำถามข้อสงสัยที่เกิดขึ้นระหว่างการอ่าน
หัวใจหลักของเทคนิคนี้ คือการตั้งคำถาม อย่าเชื่อว่าผู้เขียนนั้นเขียนได้ถูกต้องซะทีเดียว ให้จดจ่อกับสิ่งที่อาจและใช้ความคิดเชิงวิเคราะห์ในการอ่าน เช่น
  • ทำไมผู้เขียนจึงกล่าวเช่นนั้น?
  • หลักฐานคำอธิบายนี้เป็นจริงหรือ?
  • ประเด็นนี้เกี่ยวข้องกับข้อโต้แย้งของผู้เขียนอย่างไร?
  • ผู้เขียนต้องการสื่อข้อความนี้ให้แก่ใคร?
คำถามอาจซับซ้อนกว่านี้หรือง่ายกว่านี้ ขึ้นอยู่กับหนังสือที่อ่าน เคล็ดลับเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้เราอ่านหนังสือและจดจำได้เป็นอย่างดี แต่แน่นอนว่าอาจจะมีวิธีที่หลากหลายกว่านี้ แต่ละวิธีก็อาจให้ผลลัพธ์แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับว่าใครชอบวิธีไหน
กล่าวโดยสรุปก็คือ เราต้องกระตือรือร้นในการอ่าน ค้นหาสิ่งที่อยากอ่าน และทุ่มเทสักหน่อย และจดจำประเด็นสำคัญ หากทำได้เช่นนี้รับรองว่าหนังสือร้อยหน้าก็อ่านจบได้ในเวลาแค่แป๊บเดียวเท่านั้นเองจ้ะ
ขอบคุณที่มา LifeHack.org

วันศุกร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

วันเข้าพรรษา




31 กรกฎาคม 2558 คือวันสำคัญทางพุทธศาสนานั่นก็คือ "วันเข้าพรรษา" ซึ่งเป็นวันที่พระสงฆ์เถรวาทจะอธิษฐานว่าจะพักประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง ตลอดระยะเวลาฤดูฝนที่มีกำหนดเป็นระยะเวลา 3 เดือน ตามที่พระธรรมวินัยบัญญัติไว้ โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น หรือที่เรียกติดปากกันโดยทั่วไปว่า"จำพรรษา" นั่นเอง
ประวัติวันเข้าพรรษา
          "เข้าพรรษา" แปลว่า "พักฝน" หมายถึง พระภิกษุสงฆ์ต้องอยู่ประจำ ณ วัดใดวัดหนึ่งระหว่างฤดูฝน โดยเหตุที่พระภิกษุในสมัยพุทธกาล มีหน้าที่จะต้องจาริกโปรดสัตว์ และเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนแก่ประชาชนไปในที่ต่าง ๆ ไม่จำเป็นต้องมีที่อยู่ประจำ แม้ในฤดูฝน ชาวบ้านจึงตำหนิว่าไปเหยียบข้าวกล้าและพืชอื่น ๆ จนเสียหาย พระพุทธเจ้าจึงทรงวางระเบียบการจำพรรษาให้พระภิกษุอยู่ประจำที่ตลอด 3 เดือน ในฤดูฝน คือ เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี เรียกว่า "ปุริมพรรษา" 

          ถ้าปีใดมีเดือน 8 สองครั้ง ก็เลื่อนมาเป็นวันแรม 1 ค่ำ เดือนแปดหลัง และออกพรรษาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เรียกว่า "ปัจฉิมพรรษา" เว้นแต่มีกิจธุระคือเมื่อเดินทางไปแล้วไม่สามารถจะกลับได้ในเดียวนั้น ก็ทรงอนุญาตให้ไปแรมคืนได้ คราวหนึ่งไม่เกิน 7 คืน เรียกว่า "สัตตาหะ" หากเกินกำหนดนี้ถือว่าไม่ได้รับประโยชน์แห่งการจำพรรษา จัดว่าพรรษาขาด

          สำหรับข้อยกเว้นให้ภิกษุจำพรรษาที่อื่นได้ โดยไม่ถือเป็นการขาดพรรษา เว้นแต่เกิน 7 วัน ได้แก่

          1.การไปรักษาพยาบาลภิกษุ หรือบิดามารดาที่เจ็บป่วย
          2.การไประงับภิกษุสามเณรที่อยากจะสึกมิให้สึกได้
          3.การไปเพื่อกิจธุระของคณะสงฆ์ เช่น การไปหาอุปกรณ์มาซ่อมกุฏิที่ชำรุด
          4.หากทายกนิมนต์ไปทำบุญ ก็ไปฉลองศรัทธาในการบำเพ็ญกุศลของเขาได้


          นอกจากนี้หากระหว่างเดินทางตรงกับวันหยุดเข้าพรรษาพอดี พระภิกษุสงฆ์เข้ามาทันในหมู่บ้านหรือในเมืองก็พอจะหาที่พักพิงได้ตามสมควร แต่ถ้ามาไม่ทันก็ต้องพึ่งโคนไม้ใหญ่เป็นที่พักแรม ชาวบ้านเห็นพระได้รับความลำบากเช่นนี้ จึงช่วยกันปลูกเพิง เพื่อให้ท่านได้อาศัยพักฝน รวมกันหลาย ๆ องค์ ที่พักดังกล่าวนี้เรียกว่า "วิหาร" แปลว่า ที่อยู่สงฆ์ เมื่อหมดแล้ว พระสงฆ์ท่านออกจาริกตามกิจของท่านครั้ง ถึงหน้าฝนใหม่ท่านก็กลับมาพักอีก เพราะสะดวกดี แต่บางท่านอยู่ประจำเลย บางทีเศรษฐีมีจิตศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ก็เลือกหาสถานที่สงบเงียบไม่ห่างไกลจากชุมชนนัก สร้างที่พัก เรียกว่า "อาราม" ให้เป็นที่อยู่ของสงฆ์ดังเช่นปัจจุบันนี้ 
          ทั้งนี้ โดยปกติเครื่องใช้สอยของพระตามพุทธานุญาตให้มีประจำตัวนั้น มีเพียงอัฐบริขาร อันได้แก่ สบง จีวร สังฆาฏิ เข็ม บาตร รัดประคด หม้อกรองน้ำ และมีดโกน และกว่าพระท่านจะหาที่พักแรมได้ บางทีก็ถูกฝนต้นฤดูเปียกปอนมา ชาวบ้านที่ใจบุญจึงถวายผ้าอาบน้ำฝนสำหรับให้ท่านได้ผลัดเปลี่ยน และถวายของจำเป็นแก่กิจประจำวันของท่านเป็นพิเศษในเข้าพรรษา นับเป็นเหตุให้มีประเพณีทำบุญเนื่องในวันนี้สืบมา...

          อย่างไรก็ตาม แม้การเข้าพรรษาจะเป็นเรื่องของพระภิกษุ แต่พุทธศาสนิกชนก็ถือเป็นโอกาสดีที่จะได้ทำบุญรักษาศีล และชำระจิตใจให้ผ่องใส ก่อนวันเข้าพรรษาชาวบ้านก็จะไปช่วยพระทำความสะอาดเสนาสนะ ซ่อมแซมกุฏิวิหารและอื่น ๆ พอถึงวันเข้าพรรษาก็จะไปร่วมทำบุญตักบาตร ถวายเครื่องสักการะบูชา ดอกไม้ ธูปเทียน และเครื่องใช้ เช่น สบู่ ยาสีฟัน เป็นต้น พร้อมฟังเทศน์ ฟังธรรม และรักษาอุโบสถศีลกันที่วัด บางคนอาจตั้งใจงดเว้นอบายมุขต่าง ๆ เป็นกรณีพิเศษ เช่น งดเสพสุรา งดฆ่าสัตว์ เป็นต้น อนึ่ง บิดามารดามักจะจัดพิธีอุปสมบทให้บุตรหลานของตน โดยถือกันว่าการเข้าบวชเรียนและอยู่จำพรรษาในระหว่างนี้จะได้รับอานิสงส์อย่างสูง 


          นอกจากนี้ ยังมีประเพณีสำคัญที่ขาดไม่ได้เลย คือ "ประเพณีหล่อเทียนเข้าพรรษา"ประเพณีที่กระทำกันเมื่อใกล้ถึงฤดูเข้าพรรษา ซึ่งมีมาตั้งแต่โบราณกาล การหล่อเทียนเข้าพรรษานี้ มีอยู่เป็นประจำทุกปี เพราะในระยะเข้าพรรษา พระภิกษุจะต้องมีการสวดมนต์ทำวัตรทุกเช้า–เย็น และในการนี้จะต้องมีธูป-เทียนจุดบูชาด้วย พุทธศาสนิกชนทั้งหลายจึงพร้อมใจกันหล่อเทียนเข้าพรรษาสำหรับให้พระภิกษุจุดเป็นการกุศลทานอย่างหนึ่ง เพราะเชื่อกันว่าในการให้ทานด้วยแสงสว่าง จะมีอานิสงส์เพิ่มพูนปัญญาหูตาสว่างไสว 

          ตามชนบทนั้น การหล่อเทียนเข้าพรรษาทำกันอย่างเอิกเกริกสนุกสนานมาก เมื่อหล่อเสร็จแล้ว ก็จะมีการแห่แหนรอบพระอุโบสถ 3 รอบ แล้วนำไปบูชาพระตลอดระยะเวลา 3 เดือน บางแห่งก็มีการประกวดการตกแต่ง มีการแห่แหนรอบเมืองด้วยริ้วขบวนที่สวยงาม โดยถือว่าเป็นงานประจำปีเลยทีเดียว


 กิจกรรมต่าง ๆ ที่ควรปฏิบัติในวันเข้าพรรษา
          ร่วมกิจกรรมทำเทียนจำนำพรรษา

          ร่วมกิจกรรมถวายผ้าอาบน้ำฝน และจตุปัจจัย แก่พระภิกษุสามเณร

          ร่วมทำบุญ ตักบาตร ฟังธรรมเทศนา รักษาอุโบสถศีล

          อธิษฐานงดเว้นอบายมุขต่าง ๆ

วันพฤหัสบดีที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ทุเรียนน้ำ ทุเรียนเทศ สรรพคุณมีอะไรบ้าง

                ทุเรียนน้ำ หรือทุเรียนเทศ รักษามะเร็งได้จริงหรือไม่ เพราะมีงานวิจัยหลายชิ้นยืนยันถึงสรรพคุณข้อนี้ แต่ก็มีงานวิจัยอีกไม่น้อยที่บอกว่ามีพิษ มาไขคำตอบเรื่องนี้กัน

               กลายเป็นที่ฮือฮาอีกครั้ง สำหรับกระแสสมุนไพรต้านมะเร็ง ขจัดโรคร้ายด้วยพลังของธรรมชาติ ที่ล่าสุดก็ได้มีผลไม้อีกชนิดหนึ่งซึ่งว่ากันว่าสามารถขจัดโรคมะเร็งได้อย่างชะงัด แถมยังออกฤทธิ์ดีกว่าการเข้ารบการรักษาด้วยวิธีเคมีบำบัดถึง 10,000 เท่า ซึ่งผลไม้ชนิดนี้ก็คือ ทุเรียนน้ำ หรือทุเรียนเทศนั่นเอง

               สำหรับทุเรียนน้ำ (Guyabano หรือ Sour Sop) เป็นผลไม้ที่ยังไม่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายนักในบ้านเรา มีชื่อเรียกหลายชื่อ ไม่ว่าจะเป็น ทุเรียนเทศ ทุเรียนแขก หรือหมากเขียบหลด โดยทุเรียนน้ำเป็นผลไม้แถบร้อน มีถิ่นกำเนิดในแอฟริกาใต้ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พบได้มากทางตอนใต้ของประเทศไทย ในมาเลเซียและสิงคโปร์ และในแถบรัฐปีนังของมาเลเซียก็จะพบว่ามีการน้ำทุเรียนน้ำมาแปรรูปเป็นน้ำทุเรียนเข้มข้นซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากด้วย

               และในการปลูกทุเรียนน้ำก็สามารถทำได้ไม่ยาก เพราะทุเรียนน้ำนั้นใช้วิธีขยายพันธุ์โดยเมล็ด ซึ่งเพียงแค่นำเมล็ดมาแช่น้ำทิ้งไว้ 1-2 วัน ก่อนนำไปเพาะเลี้ยงในดินผสมปกติ ต้นทุเรียนน้ำก็จะงอกขึ้นมาได้ภายใน 7 วัน แต่ต้นกล้าจะโตช้าและออกดอกเมื่อมีอายุไม่ต่ำกว่า 3 ปี ก่อนจะให้ผลได้ในปีที่ 4 ได้ผลผลิตประมาณปีละ 1.5 - 2 ตันต่อไร่ หรือจะใช้วิธีขยายพันธุ์แบบเสียบยอดและทาบกิ่งก็ได้ โดยต้นทุเรียนน้ำนี้จะเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนที่มีความชุ่มชื้น ระบายน้ำได้ดี ในไทยคนมักนิยมปลูกไว้เป็นไม้ประดับในบ้าน 



    ทุเรียนน้ำ ทุเรียนเทศ สรรพคุณมีอะไรบ้าง 

               มีงานวิจัยในต่างประเทศระบุว่า ตั้งแต่สมัยโบราณ ทุเรียนน้ำเป็นสมุนไพรที่ถูกนำมาใช้รักษาโรคในแถบแอฟริกาใต้ โดยสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วนตั้งแต่ราก ต้น เมล็ด ใบ ดอก ผล และเมล็ด ดังนี้

                ผล - แก้โรคเลือดออกตามไรฟัน แก้โรคบิด กระตุ้นการผลิตน้ำนมแม่

               
     เมล็ด - ใช้สมานแผลห้ามเลือด ใช้ฆ่าแมลง

               
     ใบ - นำมาขยี้ผสมกับปูนใช้ทาบริเวณท้องแก้ท้องอืด ใช้รักษาโรคผิวหนัง เมื่อนำมาปูรองให้คนที่เป็นไข้นอนจะช่วยลดไข้ แก้ไอ ปวดตามข้อ ลดอาการปวด ลดการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อเรียบในลำไส้ ขยายหลอดเลือดป้องกันความดันสูง กำจัดเซลล์มะเร็ง ฆ่าเชื้อโรค ลดเบาหวาน

               
     หน่ออ่อน - กำจัดเซลล์มะเร็ง

               
     ดอก - บำรุงกล้ามเนื้อหัวใจ

               
     ราก  -กำจัดแมลง

               
     เปลือกไม้ - กำจัดแมลง ฆ่าเชื้อโรค พยาธิ อะมีบา แบคทีเรีย และรักษาโรคกระเพาะ

    ทุเรียนน้ำ ทุเรียนเทศ รักษามะเร็งได้หรือไม่ 

               แม้ว่าจะมีสรรพคุณมากมาย แต่สรรพคุณเด่นที่โด่งดังที่สุดของทุเรียนน้ำก็คือความสามารถในการรักษาโรคมะเร็ง ฆ่าเซลล์มะเร็งอย่างได้ผลและไม่เป็นอันตราย โดยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2483 นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบสารแอนโนนาเชียส เอคโทจีเนียส (Annonaceous acetogenins) ซึ่งเป็นสารธรรมชาติที่มีอยู่ในทุเรียนน้ำ และสามารถต้านทำลายเซลล์มะเร็งทุกชนิด รวมไปถึงการฆ่าแบคทีเรียและเชื้อราอย่างได้ผลชะงัด

               อีกทั้งก่อนหน้านี้ก็ได้มีผลการรับรองจากห้องทดลองหลายแห่งรวมทั้งสถาบันมะเร็งแห่งชาติในสหรัฐอเมริกา ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ทุเรียนน้ำนั้นสามารถช่วยในการฆ่าเซลล์มะเร็งได้ถึง 12 ชนิด เช่น มะเร็งลำไส้ มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งปอด มะเร็งตับอ่อน และมะเร็งต่อมน้ำเหลือง แถมมหาวิทยาลัยคาทอลิกในเกาหลีใต้ยังได้ยืนยันอีกว่าฤทธิ์ของทุเรียนน้ำในการฆ่าเซลล์มะเร็งนั้น มีฤทธิ์มากกว่าการทำเคมีบำบัดถึง 10,000 เท่า โดยไม่ส่งผลร้ายต่อเซลล์เนื้อเยื่อดีอื่น ๆ ในร่างกายของคนไข้ แถมในรายที่เกิดอาการดื้อยามะเร็ง ก็ยังส่ามารถใช้สารสกัดจากมะเร็งน้ำมาช่วยให้คนไข้หายจากการอาการดื้อยาได้อีกด้วย

               โดยสถาบันผลิตยารายใหญ่ของสหรัฐอเมริกาได้ชี้ให้เห็นความสามารถของสารสกัดจากทุเรียนน้ำ ดังนี้

                โจมตีเซลล์มะเร็งได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการรักษาเพราะเป็นผลผลิตตามธรรมชาติทั้งหมด ไม่ก่อให้เกิดอาการคลื่นไส้อย่างรุนแรง สูญเสียน้ำหนักและเส้นผมหลุดร่วง เหมือนการทำเคมีบำบัด

                ป้องกันระบบภูมิคุ้มกันและหลีกเลี่ยงการติดเชื้อร้ายแรง

                รู้สึกถึงความแข็งแรงและมีสุขภาพดีมากขึ้น ตลอดช่วงเวลาของการรักษา

                เพิ่มพลังงานชีวิตและปรับปรุงสภาพร่างกายภายนอกของคนไข้





    วิธีใช้ทุเรียนน้ำ ทุเรียนเทศ รักษามะเร็ง

               สำหรับการใช้ทุเรียนน้ำเพื่อรักษามะเร็งให้ได้ผลนั้น มีข้อมูลระบุว่า ให้นำใบแห้งจากกระบวนการอบแห้งด้วยการเป่าลมร้อน (Air Dry) มาชงเป็นชาดื่ม โดยมีวิธีในการชงชาจากใบทุเรียนน้ำ ดังนี้

                ฉีกใบแห้งเป็นชิ้นเล็ก ๆ และตวงให้ได้ 1 ถ้วยตวงต่อน้ำ 1 ลิตร 

                นำใบทุเรียนเทศไปต้มกับน้ำ และลดไฟให้ต่ำ เคี่ยวอีก 20 นาที 

                ใช้ดื่ม 3 ถ้วยต่อวัน 30 นาทีก่อนมื้ออาหาร


               โดยให้ดื่มน้ำชาแบบนี้ทุกวันเป็นระยะเวลา 30 วัน เพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียในร่างกาย หากดื่มติดต่อกันมานานเกิน 30 วันแล้ว แต่ร่างกายยังไม่ดีขึ้น ให้พักก่อนสัก 1 สัปดาห์จึงค่อยดื่มชาต่อ


    ข้อควรระวังในการรับประทานทุเรียนน้ำ ทุเรียนเทศ

              อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีเพียงแค่ข้อมูลที่ยืนยันสรรพคุณดี ๆ ของทุเรียนเทศเท่านั้น เพราะยังมีงานวิจัยอีกไม่น้อยที่ระบุว่า ทุเรียนเทศอาจเป็นพิษต่อร่างกาย และมีข้อควรระวังหากจะใช้คือ

                1. งานวิจัยในแถบทะเลแคริบเบียน แสดงให้เห็นว่า ในผล เมล็ด และราก ของทุเรียนน้ำ มีสารแอนโนนาซิน (Annonacin)  ซึ่งมีความเชื่อมโยงสูงต่อการเกิดโรคพาร์คินสัน และมีสารอัลคาลอยด์ซึ่งเป็นพิษต่อร่างกาย ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการทรับประทานผล ราก หรือน้ำผลไม้ที่ทำจากทุเรียนน้ำมากจนเกินไป หรือรับประทานติดต่อกันทุกวัน

                2. จากการทดลองพบว่า สารสำคัญในทุเรียนเทศนั้นจะไม่สามารถสกัดหรือสังเคราะห์ออกมาได้ ดังนั้นหากต้องการได้รับสารดังกล่าว จะต้องบริโภคแบบธรรมชาติเท่านั้น การทานในรูปแบบของยาอัดเม็ดหรือผลบรรจุแคปซูลนั้นจะไม่ได้ผลประโยชน์ใด ๆ เลยทั้งสิ้น

                3. การทานทุเรียนน้ำให้ได้ประโยชน์นั้น ควรจะต้องรับประทานแบบธรรมชาติ หรือรับประทานสด ๆ เท่านั้น ควรเลี่ยงผลิตภัณฑ์จากทุเรียนน้ำที่ผ่านกระบวนการต่าง ๆ มาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นน้ำผลไม้กระป๋อง หรือใบชาบดผ่านกระดาษกรอง เพราะกระบวนการในการผลิตเหล่านั้นล้วนแต่ทำให้ประสิทธิภาพของทุเรียนน้ำลดลง

                4. การรักษามะเร็งให้ได้ผลจะต้องนำใบ หน่อ และกิ่ง ของต้นทุเรียนน้ำ มาต้มทำเป็นชา ขณะที่การนำผลของทุเรียนน้ำมาต้มเป็นชานั้นไม่ได้ให้ผลใด ๆ ในการรักษามะเร็ง เนื่องจากมีสารที่มีคุณสมบัติในการฆ่าเซลล์มะเร็งอยู่น้อย 

              อย่างไรก็ตาม การใช้ทุเรียนเทศมารักษามะเร็งนั้น ยังคงต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมให้มากขึ้นต่อไปอีกเพราะแม้จะมีงานวิจัยระบุว่าสามารถฆ่าเซลล์มะเร็งได้ แต่ก็มีข้อมูลการวิจัยส่วนหนึ่งพบว่า สารแอนโนนาซินที่มีอยู่ในพืชชนิดนี้มีพิษต่อเซลล์ประสาท 

              นอกจากนี้ในรายงานการวิจัยของประเทศกานา ยังพบว่า หนูทดลองที่ได้รับสารสกัดใบทุเรียนเทศในปริมาณสูงมีผลต่อการทำงานของไต ดังนั้นการนำสมุนไพรทุเรียนเทศมาใช้บำบัดโรคมะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยยังต้องผ่านกระบวนการศึกษาวิจัยต่าง ๆ อีกมากมาย 

              ขณะที่ทางการไทยยังไม่ได้รับรองในเรื่องนี้ โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กำลังเร่งศึกษาวิจัย เพื่อหาคำตอบที่แน่ชัดว่า ทุเรียนเทศ เป็นสมุนไพรพิฆาตมะเร็งได้จริงหรือไม่ ดังนั้นพินิจพิจารณาให้รอบคอบ หากคิดจะนำสมุนไพรชนิดนี้มาใช้เอง

วันศุกร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2557

10 ธันวาคม วันรัฐธรรมนูญ

ความสำคัญของวันรัฐธรรมนูญ
วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ได้เสด็จออกประทับพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร ณ พระที่นั่ง อนันตสมาคม ซึ่งโปรดเกล้าให้จัดเป็นที่ประชุมรัฐสภาได้ทรงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พระราชทานเป็นกฎหมายสูงสุดเพื่อเป็นหลักในการปกครองประเทศจึงได้ถือเป็นวันที่ระลึกสำคัญของชาติ เพื่อระลึกถึงวันที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พระราชทาน รัฐธรรมนูญ “ฉบับแรกอันเป็นฉบับถาวร” ให้แก่ปวงชนชาวไทย เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 ซึ่งมีพระราชดำรัสในวันพระราชทานรัฐธรรมนูญดังนี้ “ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใด โดยเฉพาะเพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร” ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นประชาธิปไตย โดยผู้ที่เปลี่ยนแปลงการปกครองในครั้งนั้นคือ คณะราษฎร์
รัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทย
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มีทั้งหมด 16 ฉบับ ได้แก่
ฉบับที่ 1 ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม พุทธศักราช 2475
ฉบับที่ 2 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475
ฉบับที่ 3 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489
ฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2490 (ฉบับชั่วคราว)
ฉบับที่ 5 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492
ฉบับที่ 6 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2495
ฉบับที่ 7 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2502
ฉบับที่ 8 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511
ฉบับที่ 9 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2515
ฉบับที่ 10 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517
ฉบับที่ 11 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2519
ฉบับที่ 12 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2520
ฉบับที่ 13 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 (แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2528)
ฉบับที่ 14 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534
ฉบับที่ 15 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534
ฉบับที่ 16 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540
ฉบับที่ 17 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549
ฉบับที่ 18 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
กิจกรรม
คือ มีพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลฉลอง ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ทุกปีสืบมา งานนี้เป็นงานพระราชพิธีและรัฐพิธีร่วมกัน และมีพิธีการวางพวงมาลาถวายสักการะ ณ พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และจะมีการประดับธงชาติบริเวณอาคารบ้านเรือน
แหล่งอ้างอิง
- วันและประเพณีสำคัญ. เรียบเรียงโดย ศิริวรรณ คุ้มโห้
- ประเพณีและพิธีกรรมในวรรณคดีไทย. สมปราชญ์ อัมมะพันธ์

วันพฤหัสบดีที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2557

23 ตุลาคม วันปิยะมหาราช


  พระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 คือ การประกาศเลิกทาส ทำให้ปวงชนชาวไทยได้เป็นไทมาจวบจนทุกวันนี้ 

          ในรัชสมัยของพระองค์ สยามประเทศได้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สร้างความวัฒนาให้กับชาติเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น การไฟฟ้า การไปรษณีย์ โทรเลข โทรศัพท์ ฯลฯ ด้วยพระราชกรณียกิจที่ยังความผาสุกให้เกิดแก่ประชาชน ทวยราษฎร์ทั้งปวงจึงน้อมใจแสดงความจงรักภักดี ด้วยการถวายพระนามว่า "พระปิยมหาราช" หรือพระพุทธเจ้าหลวง และกำหนดให้ทุกวันที่ 23 ตุลาคม เป็น วันปิยมหาราช 


ความเป็นมาของวันปิยมหาราช

          เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ.2453 ได้เกิดเหตุการณ์ที่สร้างความเศร้าโศกให้กับประเทศไทยครั้งใหญ่หลวง เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงประชวรเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งอัมพรสถานพระราชวังดุสิต เนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นกษัตริย์ที่เป็นที่เคารพรักของทวยราษฎร์ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอเนกประการ ทั้งในการปกครองบ้านเมือง และพระราชทานความร่มเย็นเป็นสุขแก่ชนทุกหมู่เหล่า 

          ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทางราชการได้ประกาศให้วันที่ 23ตุลาคม ซึ่งเป็นวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นวันที่ระลึกสำคัญของชาติเรียกว่า "วันปิยมหาราช" และกำหนดให้เป็นวันหยุดราชการ 
          เจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทยซึ่งต่อมาเป็น "กรุงเทพมหานคร" ร่วมด้วยกระทรวงวัง ซึ่งต่อมาเป็น "สำนักพระราชวัง" ได้จัดตกแต่งพระบรมราชานุสาวรีย์ ตั้งราชวัติฉัตร 5 ชั้น ประดับโคมไฟ ทอดเครื่องราชสักการะที่หน้าพระบรมราชานุสาวรีย์ตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน 

          พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศล วันปิยมหาราช ครั้งแรกเกิดขึ้นถัดจากปีที่ได้ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทานถวายแล้วเสด็จฯ ไปถวายพวงมาลา ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะที่พระบรมราชานุสาวรีย์ 

พระราชประวัติ
          พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระนามเดิมว่า สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ พระราชสมภพเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ.2396 เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 4 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระนางเจ้าฟ้ารำเพยภมราภิรมย์ (สมเด็จพระเทพศิรินทรา พระบรมราชินี) เมื่อพระชนมายุได้ 9 พรรษา ทรงได้รับสถาปนาขึ้นเป็น "กรมหมื่นพิฆเนศวรสุรลังกาศ" ต่อมาเมื่อพระชนมายุได้ 13 พรรษา ทรงได้รับสถาปนาขึ้นเป็น "กรมขุนพินิตประชานาถ" บรมราชาภิเษกครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2411 ทรงพระนามว่า "พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" 

          เนื่องจากขณะนั้นมีพระชันษาเพียง 16 ปี ยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะ สมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) จึงเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน และสถาปนากรมหมื่นบวรวิชัยชาญ พระโอรสองค์ใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญพระมหาอุปราช 
          ระหว่างที่สมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เป็นผู้สำเร็จราชการอยู่นั้น สมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ก็ทรงใช้เวลาศึกษาเล่าเรียนศิลปวิทยาเป็นอันมาก เช่น โบราณราชประเพณี รัฐประศาสน์ โบราณคดี ภาษาบาลี ภาษาอังกฤษ วิชาปืนไฟ วิชามวยปล้ำ วิชากระบี่กระบอง และวิชาวิศวกรรม 

          ในตอนนี้ยังได้เสด็จประพาสสิงคโปร์และชวา 2 ครั้ง เสด็จประพาสอินเดีย 1 ครั้ง การเสด็จประพาสนี้มิใช่เพื่อสำราญพระราชหฤทัย แต่เพื่อทอดพระเนตรแบบแผนการปกครองที่ชาวยุโรปนำมาใช้ปกครองเมืองขึ้นของตน เพื่อจะได้นำมาแก้ไขการปกครองของไทยให้เหมาะสมแก่สมัยยิ่งขึ้น ตลอดจนการแต่งตัว การตัดผม การเข้าเฝ้าในพระราชฐานก็ใช้ยืน และนั่งตามโอกาสสมควร ไม่จำเป็นต้องหมอบคลานเหมือนแต่ก่อน 

          เมื่อพระชนมายุบรรลุพระราชนิติภาวะ ได้ทรงผนวชเป็นเวลา 2 สัปดาห์ แล้วจึงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2416 และนับจากนั้นมาก็ทรงพระราชอำนาจเด็ดขาดในการบริหารราชการแผ่นดิน 

          ตลอดระยะเวลาที่ทรงครองสิริราชสมบัติ ทรงปกครองทำนุบำรุงพระราชอาณาจักรให้มั่งคั่งสมบูรณ์ ดัวยรัฐสมบัติ พิทักษ์พสกนิกรให้อยู่เย็นเป็นสุข บำบัดภัยอันตรายทั้งภายในภายนอกประเทศ ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจต่างๆ อันก่อให้เกิดคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ ให้รอดพ้นจากวิกฤตการณ์ และสามารถธำรงเอกราชไว้ตราบจนทุกวันนี้ 

          พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ.2453 รวมพระชนมายุได้ 58พรรษา ครองราชสมบัติมานานถึง 42 ปี 

พระราชกรณียกิจ

 1.การเลิกทาส

          เป็นพระราชกรณียกิจอันสำคัญยิ่ง ที่ทำให้พระองค์ทรงได้รับพระสมัญญาว่า "สมเด็จพระปิยมหาราช" ด้วยพระองค์ทรงเห็นว่า มีทาสในแผ่นดินเป็นจำนวนมาก และลูกทาสในเรือนเบี้ยจะสืบต่อการเป็นทาสไปจนรุ่นลูกรุ่นหลานอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ถ้าไม่มีเงินมาไถ่ตัวเองแล้ว ต้องเป็นทาสไปตลอดชีวิต พระองค์จึงทรงมีพระทัยแน่วแน่ว่า จะต้องเลิกทาสให้สำเร็จ แม้จะเป็นเรื่องยากลำบาก เพราะทาสมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ อีกทั้งเจ้านายที่เป็นใหญ่ในสมัยนั้นมักมีข้ารับใช้ เมื่อไม่มีทาส บุคคลเหล่านี้อาจจะไม่พอใจและก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นเหมือนกับที่เกิดขึ้นในต่างประเทศมาแล้ว 

          พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ จึงตราพระราชบัญญัติขึ้น เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ.2417 ให้มีผลย้อนหลังไปถึงปีที่พระองค์เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติ มีบัญญัติว่า ลูกทาสซึ่งเกิดเมื่อปีมะโรง พ.ศ.2411 ให้มีสิทธิได้ลดค่าตัวทุกปี และพอครบอายุ 21 ปีก็ให้ขาดจากความเป็นทาสทั้งชายและหญิงจากนั้นใน พ.ศ.2448 จึงได้ออกพระราชบัญญัติเลิกทาสที่แท้จริงขึ้น เรียกว่า "พระราชบัญญัติทาส ร.ศ.124" (พ.ศ.2448) เลิกลูกทาสในเรือนเบี้ยอย่างเด็ดขาด เด็กที่เกิดจากทาส ไม่ต้องเป็นทาสอีกต่อไป และการซื้อขายทาสเป็นโทษทางอาญา ส่วนผู้ที่เป็นทาสอยู่แล้ว ให้นายเงินลดค่าตัวให้เดือนละ 4 บาท จนกว่าจะหมด 

          ด้วยพระปรีชาสามารถของพระองค์ท่าน ในเวลาเพียง 30 ปีเศษ ทาสในเมืองไทยก็หมดไปโดยไม่เกิดการนองเลือดเหมือนกับประเทศอื่นๆ 


 2.การปฏิรูประบบราชการ 

          ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราระเบียบการปกครองขึ้นใหม่ แยกหน่วยราชการออกเป็นกรมกองต่างๆ มีหน้าที่รับผิดชอบเฉพาะไม่ก้าวก่ายกัน จากเดิมมี 6 กระทรวง คือ กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงลาโหม, กระทรวงนครบาล, กระทรวงวัง, กระทรวงการคลัง และกระทรวงเกษตราธิการ ได้เพิ่มอีก 4 กระทรวง รวมเป็น 10 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงธรรมการ มีหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับกิจการของพระสงฆ์ และการศึกษา, กระทรวงยุติธรรมมีหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับคดีความที่ต้องตัดสินต่างๆ , กระทรวงโยธาธิการ มีหน้าที่ดูแลตรวจตราการก่อสร้าง การทำถนน ขุดลอกคูคลอง งานที่เกี่ยวกับการก่อสร้าง และกระทรวงการต่างประเทศ มีหน้าที่ดูแลงานที่เกี่ยวข้องกับการต่างประเทศ 


 3.การสาธารณูปโภค 

           การประปา ทรงให้กักเก็บน้ำจากแม่น้ำเชียงรากน้อย จังหวัดปทุมธานี และขุดคลองเพื่อส่งน้ำเข้ามายังสามเสน พร้อมทั้งฝังท่อเอกติดตั้งอุปกรณ์สำหรับการทำน้ำประปาขึ้นในเดือน กรกฎาคม พ.ศ.2452 

           การคมนาคม วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2434 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปขุดดินก่อพระฤกษ์ เพื่อประเดิมการสร้างทางรถไฟไปนครราชสีมา แต่ทรงเปิดทางรถไฟกรุงเทพฯ-พระนครศรีอยุธยาก่อน จึงนับว่าเส้นทางรถไฟสายนี้เป็นทางรถไฟแห่งแรกของไทย

          นอกจากนี้ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างสะพาน และถนนอีกมากมาย คือ ถนนเยาวราช ถนนราชดำเนินกลาง ถนนราชดำเนินนอก ถนนดินสอ ถนนบูรพา ถนนอุณากรรณ เป็นต้น และโปรดให้ขุดคลองต่างๆ เพื่อใช้เป็นแนวทางคมนาคม และส่งเสริมการเพาะปลูก 

           การสาธารณสุขเนื่องจากการรักษาแบบยากลางบ้านไม่สามารถช่วยคนได้อย่างทันท่วงที จึงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 200 ชั่ง โปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงพยาบาลวังหลัง ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น "โรงพยาบาลศิริราช" เปิดทำการรักษาประชาชนเป็นครั้งแรกเมื่อ 26 เมษายน พ.ศ.2431 

           การไฟฟ้า พระองค์ทรงมอบหมายให้กรมหมื่นไวยวรนาถ เป็นแม่งานในการก่อสร้างโรงไฟฟ้า เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า และสามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับประชาชนครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2433 

           การไปรษณีย์ โปรดให้เริ่มจัดขึ้นในปี พ.ศ.2424 รวมอยู่ในกรมโทรเลข ซึ่งได้จัดขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2412 โดยโทรเลขสายแรกคือ ระหว่างจังหวัดพระนคร (กรุงเทพมหานคร) กับจังหวัดสมุทรปราการ 


 4.การเสด็จประพาส

          การเสด็จประพาสเป็นพระราชกรณียกิจที่สำคัญอันหนึ่งของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยหลังจากเกิดกรณีพิพาทกับฝรั่งเศสแล้ว ก็ได้เสด็จประพาสยุโรป 2 ครั้ง ในปี พ.ศ.2440 ครั้งหนึ่ง และในปี พ.ศ. 2450 อีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้เพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรีกับประเทศต่างๆ ในยุโรป ตลอดจนประเทศฝรั่งเศสด้วย อีกทั้งยังได้ทรงเลือกสรรเอาแบบแผนขนบธรรมเนียมอันดีในดินแดนเหล่านั้นมาปรับปรุงในประเทศให้เจริญขึ้น 
          ในการเสด็จประพาสครั้งแรกนี้ ได้ทรงมีพระราชหัตถเลขาตลอดระยะทางถึงสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีพระบรมราชินีนาถ (ซึ่งต่อมาได้รับสถาปนาเป็น สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชเทวี) ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน พระราชหัตถเลขานี้ต่อมาได้รวมเป็นหนังสือเล่มชื่อ "พระราชนิพนธ์เรื่องไกลบ้าน" ให้ความรู้อย่างมากมายเกี่ยวแก่สถานที่ต่างๆ ที่เสด็จไป 

          ส่วนภายในประเทศ ก็ทรงถือว่าการเสด็จประพาสในที่ต่างๆ เป็นการตรวจตราสารทุกข์สุขดิบของราษฎรได้เป็นอย่างดี พระองค์จึงได้ทรงปลอมแปลงพระองค์ไปกับเจ้านายและข้าราชการ โดยเสด็จฯ ทางเรือมาดแจวไปตามแม่น้ำลำคลองต่างๆ เพื่อแวะเยี่ยมเยียนตามบ้านราษฎร ซึ่งเรียกกันว่า "ประพาสต้น" ซึ่งได้เสด็จ 2 ครั้ง คือในปี พ.ศ.2447 และในปี พ.ศ.2449 อีกครั้งหนึ่ง 
 
 
 5.การศึกษา 

          พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นความสำคัญของการศึกษา จึงโปรดให้สร้างโรงเรียนหลวงขึ้นในพระบรมมหาราชวัง คือ "โรงเรียนนายทหารมหาดเล็ก" ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น"โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ" ต่อมาโปรดให้ตั้งโรงเรียนหลวงสำหรับราษฎรขึ้นเป็นแห่งแรก คือ "โรงเรียนวัดมหรรณพาราม" และในที่สุดได้โปรดให้จัดตั้งกระทรวงธรรมการขึ้น เมื่อปี พ.ศ.2435 (ปัจจุบันคือกระทรวงศึกษาธิการ) เพื่อดูแลเรื่องการศึกษาและการศาสนา 
 

 6.การปกป้องประเทศจากการสงครามและเสียดินแดน 

          เนื่องจากลัทธิจักรวรรดินิยมได้แผ่อิทธิพลเข้ามาตั้งแต่ปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้ปรีชาสามารถอย่างสุดพระกำลังที่จะรักษาประเทศชาติให้รอดพ้นจากวิกฤติการณ์ ถึงแม้ว่าจะต้องสูญเสียดินแดนบางส่วนไปก็ตาม โดยดินแดนที่ต้องเสียให้กับต่างชาติ ได้แก่  

           พ.ศ.2431 เสียดินแดนในแคว้นสิบสองจุไทย  
           พ.ศ.2436 เสียดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ให้ฝรั่งเศส และฝรั่งเศสยึดเมืองจันทบุรีไว้  
           พ.ศ.2447 เสียดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขงให้ฝรั่งเศส เพื่อแลกกับเมืองจันทบุรี แต่ฝรั่งเศสได้ยึดตราดไว้แทน  
           พ.ศ.2449 เสียดินแดนที่เมืองพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ ให้ฝรั่งเศส เพื่อแลกกับตราด และเกาะทั้งหลาย แต่การเสียดินแดนครั้งสุดท้ายนี้ไทยก็ได้ประโยชน์อยู่บ้าง คือฝรั่งเศสยอมยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ยอมให้ศาลไทยมีสิทธิที่จะชำระคดีใดๆ ที่เกิดขึ้นแก่ชาวฝรั่งเศส ไม่ต้องไปขึ้นศาลกงสุลเหมือนแต่ก่อน 

          ส่วนทางด้านอังกฤษ ประเทศไทยได้เปิดการเจรจากับรัฐบาลอังกฤษ รวมถึงเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขตด้วย ใน พ.ศ.2454 อังกฤษจึงยอมตกลงให้ชาวอังกฤษ หรือคนในบังคับอังกฤษมาขึ้นศาลไทย และยอมให้ไทยกู้เงินจากอังกฤษ เพื่อนำมาใช้สร้างทางรถไฟสายใต้จากกรุงเทพฯ ถึงสิงคโปร์ เพื่อตอบแทนประโยชน์ที่อังกฤษเอื้อเฟื้อ ทางฝ่ายไทยยอมยกรัฐกลันตัน ตรังกานูและไทยบุรี ให้แก่สหรัฐมลายูของอังกฤษ 

 ลำดับเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้น 

           พ.ศ.2411 เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ 

           พ.ศ.2412 ทรงโปรดเกล้าให้สร้างวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามซึ่งเป็นวัดประจำรัชกาลของพระองค์ 

           พ.ศ.2413 เสด็จประพาสสิงคโปร์และชวา, โปรดฯ ให้ยกเลิกการไว้ผมทรงมหาดไทย 

           พ.ศ.2415 ทรงปรับปรุงการทหารครั้งใหญ่, โปรดให้ใช้เสื้อราชปะแตน, โปรดให้สร้างโรงเรียนหลวงสอนภาษาอังกฤษแห่งแรกขึ้นในพระบรมหาราชวัง 

           พ.ศ.2416 ทรงออกผนวชตามโบราณราชประเพณี, โปรดให้เลิกประเพณีหมอบคลานในเวลาเข้าเฝ้า 

           พ.ศ.2417 โปรดให้สร้างสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน, ตั้งโรงเรียนกุลสตรีวังหลัง (ปัจจุบันคือ โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย) และให้ใช้อัฐกระดาษแทนเหรียญทองแดง 

           พ.ศ.2424 เริ่มทดลองใช้โทรศัพท์ครั้งแรก เป็นสายระหว่างกรุงเทพฯ–สมุทรปราการ, สมโภชพระนครครบ 100 ปี มีการฉลอง 7 คืน 7 วัน 

           พ.ศ.2426 โปรดให้ตั้งกรมไปรษณีย์ เริ่มบริการไปรษณีย์ในพระนคร, ตั้งกรมโทรเลข และเกิดสงครามปราบฮ่อครั้งที่ 2 

           พ.ศ.2427 โปรดฯ ให้ตั้งโรงเรียนราษฎร์ทั่วไปตามวัด โรงเรียนแห่งแรกคือ โรงเรียนวัดมหรรณพาราม 

           พ.ศ.2429 โปรดฯ ให้เลิกตำแหน่งมหาอุปราช ทรงประกาศตั้งตำแหน่งมกุฏราชกุมารขึ้นแทน 

           พ.ศ.2431 เสียดินแดนแคว้นสิบสองจุไทให้แก่ฝรั่งเศส, เริ่มการทดลองปกครองส่วนกลางใหม่, เปิดโรงพยาบาลศิริราช, โปรดฯให้เลิกรัตนโกสินทร์ศก โดยใช้พุทธศักราชแทน 

           พ.ศ.2434 ตั้งกระทรวงยุติธรรม, ตั้งกรมรถไฟ เริ่มก่อสร้างทางรถไฟสายกรุงเทพ-นครราชสีมา 

           พ.ศ.2436 ทรงเปิดเดินรถไฟสายเอกชน ระหว่างกรุงเทพฯ-ปากน้ำ, กำเนิดสภาอุนาโลมแดง (สภากาชาดไทย) 

           พ.ศ.2440 ทรงเสด็จประพาสยุโรปเป็นครั้งแรก 

           พ.ศ.2445 เสียดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศส 

           พ.ศ.2448 ตราพระราชบัญญัติยกเลิกการมีทาสโดยสิ้นเชิง 

           พ.ศ.2451 เปิดพระบรมรูปทรงม้า 

           พ.ศ.2453 เสด็จสวรรคต 

พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบรมรูปทรงม้า

          ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมวงศานุวงศ์ข้าราชการ พ่อค้า คหบดี ปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าผู้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ได้ร่วมใจกันรวบรวมเงินจัดสร้างอนุสาวรีย์ถวายเพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งพระเกียรติคุณของพระบาทสมเด็จพระปิยมหาราช ผู้ทรงสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม และเนื่องในมหามงคลสมัยที่ทรงครองราชย์นานถึง 40 ปี 

          พระบรมรูปทรงม้านี้ หล่อด้วยโลหะชนิดทองบรอนซ์ พระองค์ใหญ่กว่าขนาดจริงเล็กน้อย ประดิษฐานบนแท่นหินอ่อนอันเป็นแท่นรองสูงประมาณ 6 เมตร กว้าง 2 เมตรครึ่ง ยาว 5 เมตร ห่างจากฐานของแท่นออกมามีรั้วเตี้ยๆ ลักษณะเป็นสายโซ่ขึงระหว่างเสาล้อมรอบกว้าง 9 เมตร ยาว 11 เมตร ที่แท่นด้านหน้ามีคำจารึกบนแผ่นโลหะติดประดับสรรญเสริญว่า "คำจารึกฐานองค์พระบรมรูปทรงม้า ศุภมัสดุ พระพุทธศาสนากาลล่วงแล้ว 2451พรรษา จำเดิมแต่พระมหาจักรีบรมราชวงศ์ ได้ประดิษฐาน แลดำรงกรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทราอยุธยาเป็นปีที่ 127 โดยนิยม" 

          สำหรับแบบรูปของพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ ได้จ้างช่างหล่อชาวฝรั่งเศส แห่งบริษัทซูซ เซอร์เฟรส ฟองเดอร์เป็นผู้หล่อ ณ กรุงปารีส เลียนแบบพระบรมรูปทรงม้าของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ที่ประดิษฐานอยู่หน้าพระราชวังแวร์ซายส์ ในประเทศฝรั่งเศส เมื่อคราวที่พระบาทสมเด็จพระปิยมหาราช รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ.2450 พระองค์ได้เสด็จประทับให้ช่างปั้นพระบรมรูป เมื่อวันที่ 22 สิงหคม ศกนั้น พระบรมรูปเสร็จเรียบร้อย และส่งเข้ามายังกรุงรัตนโกสินทร์ในทางเรือ 

          เมื่อ พ.ศ.2451 โปรดให้ประดิษฐานไว้ ณ พระลานหน้าพระราชวังดุสิต ระหว่างพระราชวังสวนอัมพรกับบสนามเสือป่า ทางทิศตะวันออกของพระที่นั่งอนันตสมาคม ทรงประกอบพระราชพิธีเปิดพระบรมรูปนี้ในวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2451 ตรงกับวันพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษกครองราชสมบัติได้ 40 ปี 

          เจ้าพนักงานได้อัญเชิญพระบรมรูปทรงม้า ขึ้นประดิษฐานบนแท่นรองที่หน้าพระลานพระราชวังดุสิต ที่ประจักษ์อยู่ในปัจจุบันนี้ โดยพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสุนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงอ่านคำถวายพระพรชัยมงคล เสร็จแล้วจึงน้อมเกล้าฯ ถวายพระบรมรูปทรงม้า กราบบังคมทูลอัญเชิญให้พระบาทสมเด็จพระปิยมหาราช พระราชบิดาให้ทรงเปิดผ้าคลุมพระบรมราชานุสาวรีย์เป็นปฐมฤกษ์ เพื่อประกาศเกียรติคุณในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ให้สถิตสถาพรปรากฏสืบไปชั่วกาลนาน 

กิจกรรมใน วันปิยมหาราช


          ในวันที่ 23 ตุลาคม ของทุกปี หน่วยงานต่างๆ ทั้งราชการและภาคเอกชน นักเรียน-นิสิตนักศึกษา รวมทั้งประชาชนจะมาวางพวงมาลาดอกไม้สักการะ และถวายบังคมที่พระบรมรูปทรงม้า เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และทำบุญตักบาตอุทิศเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นอกจากนี้ในหน่วยงาน และโรงเรียน มหาวิทยาลัย จะจัดนิทรรศการเผยแพร่พระราชประวัติ และพระราชกรณียกิจ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อันเป็นการประกาศเกียรติคุณให้ไพศาลสืบไป