วันศุกร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

วันเข้าพรรษา




31 กรกฎาคม 2558 คือวันสำคัญทางพุทธศาสนานั่นก็คือ "วันเข้าพรรษา" ซึ่งเป็นวันที่พระสงฆ์เถรวาทจะอธิษฐานว่าจะพักประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง ตลอดระยะเวลาฤดูฝนที่มีกำหนดเป็นระยะเวลา 3 เดือน ตามที่พระธรรมวินัยบัญญัติไว้ โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น หรือที่เรียกติดปากกันโดยทั่วไปว่า"จำพรรษา" นั่นเอง
ประวัติวันเข้าพรรษา
          "เข้าพรรษา" แปลว่า "พักฝน" หมายถึง พระภิกษุสงฆ์ต้องอยู่ประจำ ณ วัดใดวัดหนึ่งระหว่างฤดูฝน โดยเหตุที่พระภิกษุในสมัยพุทธกาล มีหน้าที่จะต้องจาริกโปรดสัตว์ และเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนแก่ประชาชนไปในที่ต่าง ๆ ไม่จำเป็นต้องมีที่อยู่ประจำ แม้ในฤดูฝน ชาวบ้านจึงตำหนิว่าไปเหยียบข้าวกล้าและพืชอื่น ๆ จนเสียหาย พระพุทธเจ้าจึงทรงวางระเบียบการจำพรรษาให้พระภิกษุอยู่ประจำที่ตลอด 3 เดือน ในฤดูฝน คือ เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี เรียกว่า "ปุริมพรรษา" 

          ถ้าปีใดมีเดือน 8 สองครั้ง ก็เลื่อนมาเป็นวันแรม 1 ค่ำ เดือนแปดหลัง และออกพรรษาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เรียกว่า "ปัจฉิมพรรษา" เว้นแต่มีกิจธุระคือเมื่อเดินทางไปแล้วไม่สามารถจะกลับได้ในเดียวนั้น ก็ทรงอนุญาตให้ไปแรมคืนได้ คราวหนึ่งไม่เกิน 7 คืน เรียกว่า "สัตตาหะ" หากเกินกำหนดนี้ถือว่าไม่ได้รับประโยชน์แห่งการจำพรรษา จัดว่าพรรษาขาด

          สำหรับข้อยกเว้นให้ภิกษุจำพรรษาที่อื่นได้ โดยไม่ถือเป็นการขาดพรรษา เว้นแต่เกิน 7 วัน ได้แก่

          1.การไปรักษาพยาบาลภิกษุ หรือบิดามารดาที่เจ็บป่วย
          2.การไประงับภิกษุสามเณรที่อยากจะสึกมิให้สึกได้
          3.การไปเพื่อกิจธุระของคณะสงฆ์ เช่น การไปหาอุปกรณ์มาซ่อมกุฏิที่ชำรุด
          4.หากทายกนิมนต์ไปทำบุญ ก็ไปฉลองศรัทธาในการบำเพ็ญกุศลของเขาได้


          นอกจากนี้หากระหว่างเดินทางตรงกับวันหยุดเข้าพรรษาพอดี พระภิกษุสงฆ์เข้ามาทันในหมู่บ้านหรือในเมืองก็พอจะหาที่พักพิงได้ตามสมควร แต่ถ้ามาไม่ทันก็ต้องพึ่งโคนไม้ใหญ่เป็นที่พักแรม ชาวบ้านเห็นพระได้รับความลำบากเช่นนี้ จึงช่วยกันปลูกเพิง เพื่อให้ท่านได้อาศัยพักฝน รวมกันหลาย ๆ องค์ ที่พักดังกล่าวนี้เรียกว่า "วิหาร" แปลว่า ที่อยู่สงฆ์ เมื่อหมดแล้ว พระสงฆ์ท่านออกจาริกตามกิจของท่านครั้ง ถึงหน้าฝนใหม่ท่านก็กลับมาพักอีก เพราะสะดวกดี แต่บางท่านอยู่ประจำเลย บางทีเศรษฐีมีจิตศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ก็เลือกหาสถานที่สงบเงียบไม่ห่างไกลจากชุมชนนัก สร้างที่พัก เรียกว่า "อาราม" ให้เป็นที่อยู่ของสงฆ์ดังเช่นปัจจุบันนี้ 
          ทั้งนี้ โดยปกติเครื่องใช้สอยของพระตามพุทธานุญาตให้มีประจำตัวนั้น มีเพียงอัฐบริขาร อันได้แก่ สบง จีวร สังฆาฏิ เข็ม บาตร รัดประคด หม้อกรองน้ำ และมีดโกน และกว่าพระท่านจะหาที่พักแรมได้ บางทีก็ถูกฝนต้นฤดูเปียกปอนมา ชาวบ้านที่ใจบุญจึงถวายผ้าอาบน้ำฝนสำหรับให้ท่านได้ผลัดเปลี่ยน และถวายของจำเป็นแก่กิจประจำวันของท่านเป็นพิเศษในเข้าพรรษา นับเป็นเหตุให้มีประเพณีทำบุญเนื่องในวันนี้สืบมา...

          อย่างไรก็ตาม แม้การเข้าพรรษาจะเป็นเรื่องของพระภิกษุ แต่พุทธศาสนิกชนก็ถือเป็นโอกาสดีที่จะได้ทำบุญรักษาศีล และชำระจิตใจให้ผ่องใส ก่อนวันเข้าพรรษาชาวบ้านก็จะไปช่วยพระทำความสะอาดเสนาสนะ ซ่อมแซมกุฏิวิหารและอื่น ๆ พอถึงวันเข้าพรรษาก็จะไปร่วมทำบุญตักบาตร ถวายเครื่องสักการะบูชา ดอกไม้ ธูปเทียน และเครื่องใช้ เช่น สบู่ ยาสีฟัน เป็นต้น พร้อมฟังเทศน์ ฟังธรรม และรักษาอุโบสถศีลกันที่วัด บางคนอาจตั้งใจงดเว้นอบายมุขต่าง ๆ เป็นกรณีพิเศษ เช่น งดเสพสุรา งดฆ่าสัตว์ เป็นต้น อนึ่ง บิดามารดามักจะจัดพิธีอุปสมบทให้บุตรหลานของตน โดยถือกันว่าการเข้าบวชเรียนและอยู่จำพรรษาในระหว่างนี้จะได้รับอานิสงส์อย่างสูง 


          นอกจากนี้ ยังมีประเพณีสำคัญที่ขาดไม่ได้เลย คือ "ประเพณีหล่อเทียนเข้าพรรษา"ประเพณีที่กระทำกันเมื่อใกล้ถึงฤดูเข้าพรรษา ซึ่งมีมาตั้งแต่โบราณกาล การหล่อเทียนเข้าพรรษานี้ มีอยู่เป็นประจำทุกปี เพราะในระยะเข้าพรรษา พระภิกษุจะต้องมีการสวดมนต์ทำวัตรทุกเช้า–เย็น และในการนี้จะต้องมีธูป-เทียนจุดบูชาด้วย พุทธศาสนิกชนทั้งหลายจึงพร้อมใจกันหล่อเทียนเข้าพรรษาสำหรับให้พระภิกษุจุดเป็นการกุศลทานอย่างหนึ่ง เพราะเชื่อกันว่าในการให้ทานด้วยแสงสว่าง จะมีอานิสงส์เพิ่มพูนปัญญาหูตาสว่างไสว 

          ตามชนบทนั้น การหล่อเทียนเข้าพรรษาทำกันอย่างเอิกเกริกสนุกสนานมาก เมื่อหล่อเสร็จแล้ว ก็จะมีการแห่แหนรอบพระอุโบสถ 3 รอบ แล้วนำไปบูชาพระตลอดระยะเวลา 3 เดือน บางแห่งก็มีการประกวดการตกแต่ง มีการแห่แหนรอบเมืองด้วยริ้วขบวนที่สวยงาม โดยถือว่าเป็นงานประจำปีเลยทีเดียว


 กิจกรรมต่าง ๆ ที่ควรปฏิบัติในวันเข้าพรรษา
          ร่วมกิจกรรมทำเทียนจำนำพรรษา

          ร่วมกิจกรรมถวายผ้าอาบน้ำฝน และจตุปัจจัย แก่พระภิกษุสามเณร

          ร่วมทำบุญ ตักบาตร ฟังธรรมเทศนา รักษาอุโบสถศีล

          อธิษฐานงดเว้นอบายมุขต่าง ๆ

วันพฤหัสบดีที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ทุเรียนน้ำ ทุเรียนเทศ สรรพคุณมีอะไรบ้าง

                ทุเรียนน้ำ หรือทุเรียนเทศ รักษามะเร็งได้จริงหรือไม่ เพราะมีงานวิจัยหลายชิ้นยืนยันถึงสรรพคุณข้อนี้ แต่ก็มีงานวิจัยอีกไม่น้อยที่บอกว่ามีพิษ มาไขคำตอบเรื่องนี้กัน

               กลายเป็นที่ฮือฮาอีกครั้ง สำหรับกระแสสมุนไพรต้านมะเร็ง ขจัดโรคร้ายด้วยพลังของธรรมชาติ ที่ล่าสุดก็ได้มีผลไม้อีกชนิดหนึ่งซึ่งว่ากันว่าสามารถขจัดโรคมะเร็งได้อย่างชะงัด แถมยังออกฤทธิ์ดีกว่าการเข้ารบการรักษาด้วยวิธีเคมีบำบัดถึง 10,000 เท่า ซึ่งผลไม้ชนิดนี้ก็คือ ทุเรียนน้ำ หรือทุเรียนเทศนั่นเอง

               สำหรับทุเรียนน้ำ (Guyabano หรือ Sour Sop) เป็นผลไม้ที่ยังไม่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายนักในบ้านเรา มีชื่อเรียกหลายชื่อ ไม่ว่าจะเป็น ทุเรียนเทศ ทุเรียนแขก หรือหมากเขียบหลด โดยทุเรียนน้ำเป็นผลไม้แถบร้อน มีถิ่นกำเนิดในแอฟริกาใต้ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พบได้มากทางตอนใต้ของประเทศไทย ในมาเลเซียและสิงคโปร์ และในแถบรัฐปีนังของมาเลเซียก็จะพบว่ามีการน้ำทุเรียนน้ำมาแปรรูปเป็นน้ำทุเรียนเข้มข้นซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากด้วย

               และในการปลูกทุเรียนน้ำก็สามารถทำได้ไม่ยาก เพราะทุเรียนน้ำนั้นใช้วิธีขยายพันธุ์โดยเมล็ด ซึ่งเพียงแค่นำเมล็ดมาแช่น้ำทิ้งไว้ 1-2 วัน ก่อนนำไปเพาะเลี้ยงในดินผสมปกติ ต้นทุเรียนน้ำก็จะงอกขึ้นมาได้ภายใน 7 วัน แต่ต้นกล้าจะโตช้าและออกดอกเมื่อมีอายุไม่ต่ำกว่า 3 ปี ก่อนจะให้ผลได้ในปีที่ 4 ได้ผลผลิตประมาณปีละ 1.5 - 2 ตันต่อไร่ หรือจะใช้วิธีขยายพันธุ์แบบเสียบยอดและทาบกิ่งก็ได้ โดยต้นทุเรียนน้ำนี้จะเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนที่มีความชุ่มชื้น ระบายน้ำได้ดี ในไทยคนมักนิยมปลูกไว้เป็นไม้ประดับในบ้าน 



    ทุเรียนน้ำ ทุเรียนเทศ สรรพคุณมีอะไรบ้าง 

               มีงานวิจัยในต่างประเทศระบุว่า ตั้งแต่สมัยโบราณ ทุเรียนน้ำเป็นสมุนไพรที่ถูกนำมาใช้รักษาโรคในแถบแอฟริกาใต้ โดยสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วนตั้งแต่ราก ต้น เมล็ด ใบ ดอก ผล และเมล็ด ดังนี้

                ผล - แก้โรคเลือดออกตามไรฟัน แก้โรคบิด กระตุ้นการผลิตน้ำนมแม่

               
     เมล็ด - ใช้สมานแผลห้ามเลือด ใช้ฆ่าแมลง

               
     ใบ - นำมาขยี้ผสมกับปูนใช้ทาบริเวณท้องแก้ท้องอืด ใช้รักษาโรคผิวหนัง เมื่อนำมาปูรองให้คนที่เป็นไข้นอนจะช่วยลดไข้ แก้ไอ ปวดตามข้อ ลดอาการปวด ลดการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อเรียบในลำไส้ ขยายหลอดเลือดป้องกันความดันสูง กำจัดเซลล์มะเร็ง ฆ่าเชื้อโรค ลดเบาหวาน

               
     หน่ออ่อน - กำจัดเซลล์มะเร็ง

               
     ดอก - บำรุงกล้ามเนื้อหัวใจ

               
     ราก  -กำจัดแมลง

               
     เปลือกไม้ - กำจัดแมลง ฆ่าเชื้อโรค พยาธิ อะมีบา แบคทีเรีย และรักษาโรคกระเพาะ

    ทุเรียนน้ำ ทุเรียนเทศ รักษามะเร็งได้หรือไม่ 

               แม้ว่าจะมีสรรพคุณมากมาย แต่สรรพคุณเด่นที่โด่งดังที่สุดของทุเรียนน้ำก็คือความสามารถในการรักษาโรคมะเร็ง ฆ่าเซลล์มะเร็งอย่างได้ผลและไม่เป็นอันตราย โดยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2483 นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบสารแอนโนนาเชียส เอคโทจีเนียส (Annonaceous acetogenins) ซึ่งเป็นสารธรรมชาติที่มีอยู่ในทุเรียนน้ำ และสามารถต้านทำลายเซลล์มะเร็งทุกชนิด รวมไปถึงการฆ่าแบคทีเรียและเชื้อราอย่างได้ผลชะงัด

               อีกทั้งก่อนหน้านี้ก็ได้มีผลการรับรองจากห้องทดลองหลายแห่งรวมทั้งสถาบันมะเร็งแห่งชาติในสหรัฐอเมริกา ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ทุเรียนน้ำนั้นสามารถช่วยในการฆ่าเซลล์มะเร็งได้ถึง 12 ชนิด เช่น มะเร็งลำไส้ มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งปอด มะเร็งตับอ่อน และมะเร็งต่อมน้ำเหลือง แถมมหาวิทยาลัยคาทอลิกในเกาหลีใต้ยังได้ยืนยันอีกว่าฤทธิ์ของทุเรียนน้ำในการฆ่าเซลล์มะเร็งนั้น มีฤทธิ์มากกว่าการทำเคมีบำบัดถึง 10,000 เท่า โดยไม่ส่งผลร้ายต่อเซลล์เนื้อเยื่อดีอื่น ๆ ในร่างกายของคนไข้ แถมในรายที่เกิดอาการดื้อยามะเร็ง ก็ยังส่ามารถใช้สารสกัดจากมะเร็งน้ำมาช่วยให้คนไข้หายจากการอาการดื้อยาได้อีกด้วย

               โดยสถาบันผลิตยารายใหญ่ของสหรัฐอเมริกาได้ชี้ให้เห็นความสามารถของสารสกัดจากทุเรียนน้ำ ดังนี้

                โจมตีเซลล์มะเร็งได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการรักษาเพราะเป็นผลผลิตตามธรรมชาติทั้งหมด ไม่ก่อให้เกิดอาการคลื่นไส้อย่างรุนแรง สูญเสียน้ำหนักและเส้นผมหลุดร่วง เหมือนการทำเคมีบำบัด

                ป้องกันระบบภูมิคุ้มกันและหลีกเลี่ยงการติดเชื้อร้ายแรง

                รู้สึกถึงความแข็งแรงและมีสุขภาพดีมากขึ้น ตลอดช่วงเวลาของการรักษา

                เพิ่มพลังงานชีวิตและปรับปรุงสภาพร่างกายภายนอกของคนไข้





    วิธีใช้ทุเรียนน้ำ ทุเรียนเทศ รักษามะเร็ง

               สำหรับการใช้ทุเรียนน้ำเพื่อรักษามะเร็งให้ได้ผลนั้น มีข้อมูลระบุว่า ให้นำใบแห้งจากกระบวนการอบแห้งด้วยการเป่าลมร้อน (Air Dry) มาชงเป็นชาดื่ม โดยมีวิธีในการชงชาจากใบทุเรียนน้ำ ดังนี้

                ฉีกใบแห้งเป็นชิ้นเล็ก ๆ และตวงให้ได้ 1 ถ้วยตวงต่อน้ำ 1 ลิตร 

                นำใบทุเรียนเทศไปต้มกับน้ำ และลดไฟให้ต่ำ เคี่ยวอีก 20 นาที 

                ใช้ดื่ม 3 ถ้วยต่อวัน 30 นาทีก่อนมื้ออาหาร


               โดยให้ดื่มน้ำชาแบบนี้ทุกวันเป็นระยะเวลา 30 วัน เพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียในร่างกาย หากดื่มติดต่อกันมานานเกิน 30 วันแล้ว แต่ร่างกายยังไม่ดีขึ้น ให้พักก่อนสัก 1 สัปดาห์จึงค่อยดื่มชาต่อ


    ข้อควรระวังในการรับประทานทุเรียนน้ำ ทุเรียนเทศ

              อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีเพียงแค่ข้อมูลที่ยืนยันสรรพคุณดี ๆ ของทุเรียนเทศเท่านั้น เพราะยังมีงานวิจัยอีกไม่น้อยที่ระบุว่า ทุเรียนเทศอาจเป็นพิษต่อร่างกาย และมีข้อควรระวังหากจะใช้คือ

                1. งานวิจัยในแถบทะเลแคริบเบียน แสดงให้เห็นว่า ในผล เมล็ด และราก ของทุเรียนน้ำ มีสารแอนโนนาซิน (Annonacin)  ซึ่งมีความเชื่อมโยงสูงต่อการเกิดโรคพาร์คินสัน และมีสารอัลคาลอยด์ซึ่งเป็นพิษต่อร่างกาย ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการทรับประทานผล ราก หรือน้ำผลไม้ที่ทำจากทุเรียนน้ำมากจนเกินไป หรือรับประทานติดต่อกันทุกวัน

                2. จากการทดลองพบว่า สารสำคัญในทุเรียนเทศนั้นจะไม่สามารถสกัดหรือสังเคราะห์ออกมาได้ ดังนั้นหากต้องการได้รับสารดังกล่าว จะต้องบริโภคแบบธรรมชาติเท่านั้น การทานในรูปแบบของยาอัดเม็ดหรือผลบรรจุแคปซูลนั้นจะไม่ได้ผลประโยชน์ใด ๆ เลยทั้งสิ้น

                3. การทานทุเรียนน้ำให้ได้ประโยชน์นั้น ควรจะต้องรับประทานแบบธรรมชาติ หรือรับประทานสด ๆ เท่านั้น ควรเลี่ยงผลิตภัณฑ์จากทุเรียนน้ำที่ผ่านกระบวนการต่าง ๆ มาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นน้ำผลไม้กระป๋อง หรือใบชาบดผ่านกระดาษกรอง เพราะกระบวนการในการผลิตเหล่านั้นล้วนแต่ทำให้ประสิทธิภาพของทุเรียนน้ำลดลง

                4. การรักษามะเร็งให้ได้ผลจะต้องนำใบ หน่อ และกิ่ง ของต้นทุเรียนน้ำ มาต้มทำเป็นชา ขณะที่การนำผลของทุเรียนน้ำมาต้มเป็นชานั้นไม่ได้ให้ผลใด ๆ ในการรักษามะเร็ง เนื่องจากมีสารที่มีคุณสมบัติในการฆ่าเซลล์มะเร็งอยู่น้อย 

              อย่างไรก็ตาม การใช้ทุเรียนเทศมารักษามะเร็งนั้น ยังคงต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมให้มากขึ้นต่อไปอีกเพราะแม้จะมีงานวิจัยระบุว่าสามารถฆ่าเซลล์มะเร็งได้ แต่ก็มีข้อมูลการวิจัยส่วนหนึ่งพบว่า สารแอนโนนาซินที่มีอยู่ในพืชชนิดนี้มีพิษต่อเซลล์ประสาท 

              นอกจากนี้ในรายงานการวิจัยของประเทศกานา ยังพบว่า หนูทดลองที่ได้รับสารสกัดใบทุเรียนเทศในปริมาณสูงมีผลต่อการทำงานของไต ดังนั้นการนำสมุนไพรทุเรียนเทศมาใช้บำบัดโรคมะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยยังต้องผ่านกระบวนการศึกษาวิจัยต่าง ๆ อีกมากมาย 

              ขณะที่ทางการไทยยังไม่ได้รับรองในเรื่องนี้ โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กำลังเร่งศึกษาวิจัย เพื่อหาคำตอบที่แน่ชัดว่า ทุเรียนเทศ เป็นสมุนไพรพิฆาตมะเร็งได้จริงหรือไม่ ดังนั้นพินิจพิจารณาให้รอบคอบ หากคิดจะนำสมุนไพรชนิดนี้มาใช้เอง